Saturday, May 4, 2024
spot_img
HomeNewsTCELS หนุนการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรทั้งระบบ ชูสารสกัดสมุนไพรมูลค่าสูง เร่งการเติบโตสู่ Hub of Herbs

TCELS หนุนการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรทั้งระบบ ชูสารสกัดสมุนไพรมูลค่าสูง เร่งการเติบโตสู่ Hub of Herbs

TCELS ร่วมลงพื้นที่ “ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2” ชูอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ หนุนการพัฒนาที่สมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เดินหน้าเสริมศักยภาพนวัตกรรมสมุนไพรทั้งระบบ เร่งต่อยอดสารสกัดมูลค่าสูงที่ปลูกได้บนพื้นที่สูง เพิ่มจำนวนยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร กระจายรายได้สู่ฐานราก ยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดสากล ก้าวสู่ Hub of Herbs ส่งภาพรวมเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

จากการประชุม ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา น่าน) ที่ผ่านมา นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่ดังกล่าว และร่วมติดตามผลการดำเนินงาน “การฟื้นฟูและพัฒนากว๊านพะเยา โดยท้องถิ่นและชุมชน” เพื่อการจัดการน้ำและป่าต้นน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นความยั่งยืนของทรัพยากร สร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยการสร้างรายได้เกษตรกรจากสมุนไพรในป่าต้นน้ำ โดยมีตัวแทนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมลงพื้นที่เพื่อสนับสนับสนุนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากพืชสมุนไพร

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)  หรือ TCELS หน่วยงานในการกำกับดูแลของกระทรวง อว. มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกลุ่มการแพทย์และสุขภาพ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ด้วยการผลักดันนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์และสังคม ขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

บทบาทของ TCELS ในการขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย มุ่งเน้นการพัฒนาสารสกัดสมุนไพรมูลค่าสูง คือ สมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยา รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และยาจากสมุนไพร โดยได้ดำเนินการสนับสนุนองค์ความรู้และเงินทุนในการยกระดับสารสกัดสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมกับพันธมิตร รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดทั้งในประเทศและระดับสากล โดยมีเป้าหมายเพิ่มยอดขายของสารสกัดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 2% ต่อปี เพื่อนำพาประเทศให้เป็น Hub of Herbs ก้าวสู่ TOP 10 ในตลาดสากล ขานรับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือ “ประเทศไทยเป็นผู้นําในภูมิภาคด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐาน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน”

สำหรับการประชุม ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ครม. นางพัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง ผู้แทน TCELS  ได้รายงานภารกิจสำคัญของ TCELS ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมสารสำคัญของสมุนไพรไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดสากล โดยมุ่งเน้นการสนับสนุน ยกระดับทั้ง Value Chain ของผู้ผลิตสมุนไพรไทย  บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีความเข้มแข็งในแต่ละช่วงของ Value Chain โดยมีเป้าหมายเริ่มต้นที่การพัฒนาสารสกัดมูลค่าสูงที่สามารถปลูกได้บนพื้นที่สูง เช่น น่าน พะเยา เป็นต้น

นอกจากนี้ TCELS ยังสนับสนุนงบประมาณในการต่อยอดนวัตกรรมยาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และเวชสำอางให้มีมาตรฐาน เพื่อผลักดันนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์และเข้าสู่ตลาดสากล ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงระดับนานาชาติ

อีกหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือของ TCELS กับหน่วยงานพันธมิตร  คือ การผนึกกำลังกับมูลนิธิกสิกรไทย ในแผนงานโครงการ “คืนป่า-ทำยาจากพืช” ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) มีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาจากสมุนไพร พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้มีมาตรฐานและแข่งขันได้ เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น 200,000 บาทต่อปี มีโรงงานสารสกัดจากพืช 1 แห่ง สามารถผลิตยาจากพืชขึ้นทะเบียนและพร้อมจำหน่าย 1 รายการ รวมทั้งมีสารสกัดจากพืชเพื่อทำยาและสามารถจำหน่ายได้ 3 รายการ

รูปแบบความร่วมมือในโครงการ “คืนป่า-ทำยาจากพืช” จะดำเนินการเสาะหานักวิจัยและข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีศักยภาพ โดย TCELS จะทำการคัดเลือกโครงการวิจัยที่มีศักยภาพในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม พร้อมผลักดันงานวิจัยที่มีศักยภาพครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานของการผลิตยาสมุนไพร

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด ถือเป็นประเทศที่มีต้นทุนด้านวัตถุดิบสูงมาก โดยสมุนไพรถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น เครื่องสำอาง เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และยาจากสมุนไพร ดังนั้นภาพรวมสมุนไพรจึงเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กร Globe Newswire ได้คาดการณ์ว่าตลาดสมุนไพรโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 550 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2573 ร้อยละ 18.9 ส่วนมูลค่าการส่งออกในปี 2564 อันดับ 1 คือ จีน ตามมาด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทยเป็นอันดับที่ 4 มีมูลค่าส่งออก 1,483.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก่อนสถานการณ์ โควิด-19 มีการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดสมุนไพรทั่วโลกจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่สถานภาพของอุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการนำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศ เนื่องจากยังมีโรงงานสกัดที่มีคุณภาพและมาตรฐานอยู่เป็นจำนวนน้อย  ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปลูกสมุนไพรให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด

การผลักดันศักยภาพของสมุนไพรไทย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในผลิตและจำหน่ายสมุนไพรไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระจายรายได้ไปถึงกลุ่มเกษตรกรฐานราก พร้อมประโยชน์ในการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพซึ่งอยู่ในระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่สร้างความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ให้ประเทศไทยต่อไป

TCELS มุ่งขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนและสิ่งแวดล้อม “TCELS MAKE EVERY LIFE BETTER”  ศึกษารายละเอียดและบริการของ TCELS ได้ที่ www.tcels.or.th  Facebook: TCELS THAILAND

RELATED ARTICLES
spot_img
spot_img
spot_img

Most Popular